หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา

หลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา
ภาษาอังกฤษ: Doctor of Philosophy Program in Dermatology

 

ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ตจวิทยา)
ชื่อย่อ : ปร.ด. (ตจวิทยา)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Doctor of Philosophy (Dermatology)
ชื่อย่อ : Ph.D. (Dermatology)

 

ปรัชญา / วัตถุประสงค์

ปรัชญาของหลักสูตร
ความรู้ทางตจวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาด้านโรคผิวหนัง เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านวิทยาศาตร์การแพทย์ การแพทย์คลินิก การวินิจฉัยโรค การดูแลรักษา และ การป้องกันโรค ปัจจุบันองค์ความรู้ด้านการแพทย์ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งด้านการวินิจฉัยโรค และ แนวทางการรักษา รวามทั้งเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ประกอบกับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของประเทศไทยมีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งศักยภาพของประเทศไทยยังเอื้อต่อการเติบโตของตลาดด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านมาตรฐานคุณภาพของผู้ให้บริการทางการแพทย์ การใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และ คุณภาพมาตรฐานของบุคคลากรในระดับสูง ดังนั้นการเตรียมบุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาขาตจวิทยา ด้านสุขภาพความงาม และด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยจึงมีความสำคัญ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญและก้าวทันเทคโนโลยีด้านสาขาตจวิทยา และด้านสุขภาพความงาม ที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลักสูตรนี้นำทฤษฎีการสร้างความรู้ของผู้เรียน คือ คอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญา (Cognitive constructivism) มาเป็นรากฐานสำคัญในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร โดยเชื่อว่า การเรียนรู้ หรือการสร้างความรู้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ โดยการนำประสบการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นในสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมาเชื่อมโยงกับความรู้ที่มีอยู่เดิม มาเพื่อสร้างเป็นความรู้และเข้าใจของตนเอง หรือ โครงสร้างทางปัญญา (Cognitive structure) จะสนับสนุนและให้ความสำคัญต่อการสร้างแนวคิดและความรู้ มากกว่าการถ่ายทอดความรู้ โดยได้นำมาใช้เป็นรากฐานสำคัญในการจัดการเรียนการสอนโดยที่มุงเน้นให้ผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์และมีทักษะการทำงานได้ภายใต้สถานการณ์จริง และใช้เป็นแนวทางในการสืบค้นและค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านการสนับสนุนของผู้สอนและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (active learning)

หลักสูตรมุ่งเน้นการผลิตดุษฎีบัณฑิตให้มีศักยภาพขั้นสูงในการสร้างสรรงานวิจัยและนวัตกรรม ทางด้านตจวิทยา เวชศาสตร์ผิวพรรณ และ สุขภาพความงามทั้ งด้านองค์ความรู้ใหม่ วิธิการทางเวชปฎิบัติแนวใหม่ในการดูแลรักษาโรคทางตจวิทยา รวมถึงการสร้างสรรนวัตกรรมการบูรณาการด้านตจวิทยากับเวชศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง ที่มีคุณภาพสูงด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารคุณภาพระดับสากล ทั้งให้สามารถนำนวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ที่ได้ ไปทำให้เกิดประโยชน์ในทางเวชปฏิบัติและ ภาคอุตสาหกรรม

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรปรับปรุงเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตดุษฎีบัณฑิต ที่มีคุณลักษณะ ดังนี้

  1. มีความรู้ความสามารถในการ สืบค้น วิเคราะห์ ตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยกระบวนการทำวิจัยด้านตจวิทยาที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ 
  2. สามารถเชื่อมโยงการศึกษาวิจัย และองค์ความรู้ด้านตจวิทยา กับเวชศาสตร์สาขาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เวชศาสตร์ชะลอวัย เป็นต้น เพื่อการบูรณาการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา การทำเวชปฏิบัติและการประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม
  3. มีคุณลักษณะที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่ มีความเป็นนานาชาติ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม และแสดงภาวะผู้นำ 
  4. มีทักษะด้านการสื่อสารเชิงวิชาการ เพื่อการเผยแพร่นวัตกรรม องค์ความรู้ อย่างเป็นสากล และต่อยอดได้
  5. สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมใหม่ด้านตจวิทยา ที่สามารถบูรณาการสู่การประกอบวิชาชีพทันสมัย และพัฒนาการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

 

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตนี้ได้ออกแบบให้มีความทันสมัย เน้นการผลิตแพทย์ที่มีทักษะด้านงานวิจัยสาขาตจวิทยา เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระดับนานาชาติ ที่ตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งระดับชาติและนานาชาติ นักศึกษาที่เรียนจบในหลักสูตรนี้สามารถทำงานในองค์กรในประเทศ องค์กรข้ามชาติ หรือองค์กรในต่างประเทศ เนื่องจากการเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ และเน้นการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษทั้งในห้องเรียนในการสัมมนานำเสนอผลงานของนักศึกษา นอกจากนี้หลักสูตรยังเสริมสร้างคุณลักษณะพิเศษให้แก่นักศึกษา ได้แก่ แนวคิดเชิงวิเคราะห์ ความสามารถในการทำงานแบบพหุวัฒนธรรม การสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการเพื่อให้นักศึกษาสามารถทำงานอิสระหรือผู้เป็นประกอบการ และมีทักษะด้านการการสื่อสารเชิงวิชาการและการประกอบวิชาชีพที่ดี 
ตัวอย่างของงานที่สามารถทำได้ ได้แก่

  1. นักวิชาการและอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษาด้านสาขาตจวิทยา ในหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระและองค์กรมหาชนชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ
  2. แพทย์นักวิจัยทางคลินิกและการพัฒนาด้านนวัตกรรมทางการแพทย์สาขาตจวิทยา
  3. ผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการที่เชี่ยวชาญสาขาตจวิทยา
  4. แพทย์ที่ปรึกษาด้านตจวิทยา
  5. อาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

  • PLO1    มีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพและการวิจัย
  • PLO2   อภิปรายเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางตจวิทยาที่พบไม่บ่อยและวินิจฉัยยาก ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และเวชปฎิบัติทางคลินิกด้านตจวิทยาที่พบไม่บ่อยและวินิจฉัยยาก 
  • PLO3    พัฒนาองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมด้านตจวิทยาที่พบไม่บ่อยและวินิจฉัยยาก ผ่านกระบวนการทำวิจัยด้านตจวิทยา 
  • PLO4    แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่และการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม
  • PLO5    แสดงทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ชีวสถิติขั้นสูง การสื่อสารเชิงวิชาการและการประกอบวิชาชีพ 
  • PLO6    แสดงทักษะด้านเวชปฎิบัติทางคลินิกด้านตจวิทยา เวชศาสตร์ผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัยที่พบไม่บ่อยและวินิจฉัยยาก
  • PLO7    แสดงทักษะด้านผู้ประกอบการ

 

ค่าธรรมเนียม

  • แบบที่ 1.1 และ แบบ 2.1 จำนวน  6  ภาคการศึกษาในหลักสูตร
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 660,000 .- บาท 
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 110,000 .- บาท  
  • แบบที่ 2.2 จำนวน  10  ภาคการศึกษาในหลักสูตร
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 1,100,000 .- บาท 
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 110,000 .- บาท  

 

โครงสร้างหลักสูตร

แบบ 1.1  
  จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 48 หน่วยกิต (หลักสูตร 3 ปี)
    1. หมวดดุษฎีนิพนธ์ 48 หน่วยกิต
    2. หมวดรายวิชาที่ไม่นับหน่วยกิต 0   หน่วยกิต
       
แบบ 2.1  
  จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 48 หน่วยกิต (หลักสูตร 3 ปี)
    1. หมวดวิชาบังคับ 3 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาเลือก 9 หน่วยกิต
    3. หมวดดุษฎีนิพนธ์ 36 หน่วยกิต
       
แบบ 2.2  
  จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 72 หน่วยกิต (หลักสูตร 5 ปี)
    1. หมวดวิชาพื้นฐาน 16 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาบังคับ 5 หน่วยกิต
    3. หมวดวิชาเลือก 3 หน่วยกิต
    4. หมวดดุษฎีนิพนธ์ 48 หน่วยกิต

 

ข้อมูลอ้างอิง

อ้างอิงจาก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาตจวิทยา พ.ศ. 2565

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 10 ส.ค. 65